วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

เทคนิคดูแลลูกน้อยหลังคลอด
เช็ดสะดือ ให้ปลอดเชื้อ
1.
จับปลายสายสะดือยกให้สูงขึ้น
2.
ใช้สำลีฆ่าเชื้อ จุ่มแอลกอฮอล์ 70 % เช็ดสะดือด้านในจากบนลงล่างเพียงครั้งเดียว แล้วเปลี่ยนสำลีก้อนใหม่ เช็ดแบบเดิมให้ครบทั้ง 4 ด้าน
3.
เช็ดทุกครั้งหลังอาบน้ำ ห้ามทาแป้งที่สะดือ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และระวังไม่ให้สะดือชื้นแฉะ
4.
ถ้าสะดือหลุดแล้ว แต่ยังไม่แห้งดีควรเช็ดทำความสะอาดเหมือนเดิมจนกว่ารอยจะแห้งสนิท
5.
ถ้ามีเลือดออก มีกลิ่นเหม็น ควร พาไปพบแพทย์ทันที
ห่อตัวลูกน้อยให้อุ่นสบาย
1.
เด็กแรกเกิดไม่ชอบอากาศเย็น เพราะอุณหภูมิในท้องแม่อุ่นสบายกำลังพอดี แต่คลอดออกมา เด็กเล็กๆต้องมีการปรับตัวพอสมควร เมื่ออยู่โรงพยาบาลคุณแม่จะเห็นว่าพยาบาลจะทำการห่อตัวเด็กเล็กๆ อยู่ตลอดเวลา นอกจากจะทำให้ทารกอุ่นสบายแล้ว ยังสะดวกแก่การอุ้มอีกด้วย
2.
เตรียมผ้าขนหนูผืนใหญ่อาจจะเป็นผ้าอ้อมหรือผ้าขนหนูก็ได้ ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส
3.
พับมุมผ้าด้านหนึ่งลงมาพอประมาณวางลูกน้อยไว้บนผ้าด้านนั้นโดยให้ศีรษะของลูกอยู่บริเวณขอบผ้า
4.
จับแขนข้างใดข้างหนึ่งของลูกให้แนบลำตัวลูกแล้วเหน็บชายผ้าไว้อีกข้างของลำตัว
5.
แขนอีกข้างหนึ่งที่ยังปล่อยตามสบาย ก็จับให้แนบลำตัว แล้วพับผ้าด้านนั้นมาฝั่งตรงข้ามผ้าจะตรึงตัวลูกไว้ สอดชายผ้าใต้ตัวลูก รวบปลายผ้าด้านล่างมัดเป็นปมเอาไว้
ตา หู จมูก เช็ดอย่างไร
          ตา ใช้สำลีก้อนชุบน้ำอุ่นบีบน้ำออกเช็ดจากหัวตาไปหางตาเบาๆ แล้วทิ้งสำลีก้อนนั้นเลย ห้ามใช้สำลี้ซ้ำ
หู ใช้ผ้าซับเบาๆ แค่ใบหูเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คอตต้อนบัตเข้าไปในรูหูเด็ดขาด
จมูก ถ้ามีน้ำมูกติดปลายจมูก ก็ให้ใช้คอตต้อนบัต ค่อยๆ เช็ดริมๆ ปลายๆ จมูกเท่านั้น ห้ามเช็ดเข้าไปข้างในเด็ดขาด
อาบน้ำให้ลูกน้อย
          เมืองไทยมีอากาศร้อนเกือบตลอดทั้ง ปี ดังนั้น คุณแม่ควรอาบน้ำให้ลูกน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น สำหรับในเวลาเช้าก็ไม่ควรเช้ามาก อาจเป็นช่วงสายๆสำหรับช่วงเย็นควรอาบน้ำก่อนพลบค่ำ สำหรับช่วงเย็นควรอาบน้ำก่อนพลบค่ำ สำหรับวันที่อากาศเย็นๆอาจจะใช้วิธีการเช็ดตัวแทน
อุปกรณ์ต้องพร้อม
1.
ทั้งสบู่ แชมพู ฟองน้ำอาบน้ำผ้าขนหนูผืนเล็ก ผ้าเช็ดตัว ผ่าห่อตัวเสื้อผ้าที่เปลี่ยน ควรจัดวางให้เป็นระเบียบ หยิบใช้สะดวก
2.
อ่าง อาบน้ำ ควรเตรียมอ่างสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เลือกที่มีขนาดใหญ่พอสมควร พลาสติกเนื้อหนาไม่มีขอบคม ขรุขระ และควรมีแผ่นกันลื่นป้องกันเอาไว้
3.
นำผ้ายางปูทับด้วยผ้าขนหนูสำหรับห่อตัวลูกเมื่อขึ้นจากน้ำ
4.
เลือกสถานที่ที่ไม่มีลมโกรก พื้นไม่ลื่น อยู่ใกล้ก๊อกน้ำ และมีที่วางของสะดวก
5.
เตรียม น้ำที่มีอุณหภูมิพอเหมาะคือ ไม่ใช้น้ำเย็นจนเกินไป ลูกจะหนาวเป็นหวัดได้ง่าย หรือ น้ำอุ่นเกินไป ก็จะทำให้ลูกผิวแห้ง ใช้วิธีผสมน้ำให้พอเหมาะ และใช้ข้อมือด้านใน  
หรือข้อศอกของคุณแม่เป็นตัวช่วยในการทดสอบอุณหภูมิน้ำก่อนพาลูกอาบน้ำทุก ครั้ง
วิธีอาบ
1.
กวักน้ำลูบไล้ตัวลูกเบาๆ ให้ลูกเคยชินกับอุณหภูมิของน้ำก่อน
2.
ใช้ มือซ้ายจับแขนข้างซ้ายของลูก ท่อนแขนด้านซ้ายของคุณรองรับศีรษะลูก ส่วนมือขวา จับข้อเท้าลูกทั้งสองข้าง โดยที่สอดนิ้วชี้คั่นระหว่างข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง แล้วค่อยๆหย่อนลูกลงในน้ำ พูดคุยกับลูกไปเรื่อยๆ ไม่ควรปล่อยมือที่จับข้อเท้าไว้เร็วนัก จนกว่าลูกจะรู้สึกชินกับน้ำ ถูสบู่ให้ทั่วตัว โดยเฉพาะซอกขาหนีบ รักแร้ ทวารหนัก แล้วกวักน้ำโดยใช้ผ้าขนหนู หรือฟองน้ำช่วยล้างฟองออก
3.
ล้างฟอง ด้านหลังลูกโดยการใช้มือขวาจับที่ต้นแขนซ้ายของลูก(นิ้วมือสอดเข้าไปใต้ รักแร้ ส่วนนิ้วโป้งอยู่บนหัวไหล่ อุ้มมือประคองลำตัว) ลำตัวด้านหน้าของลูกพาดไปตามแขนขวาของคุณแม่ แล้วใช้มือซ้ายกวักน้ำล้างฟองออก ไม่ควรให้ลูกอยู่ในน้ำนานเกินไป เมื่อฟองออกหมดแล้ว อุ้มขึ้นจากน้ำเช็ดตัว และห่อตัวทันที
**
คุณแม่อาจจะใช้วิธีถูสบู่ให้ลูกก่อน แล้วค่อยพาล้างตัวมนอ่างอาบน้ำก็ได้ แต่ถ้าเป็นคุณแม่มือใหม่และยังไม่มั่นใจ ให้พาลูกนอนบนผ้ายาง แล้วใช้ฟองน้ำเช็ดตัวลูกก่อนก็ได้
เช็ดก้นอย่างนุ่มนวล
1.
เมื่อลูกอึ ต้องเช็ดทำความสะอาดทันทีทุกครั้ง แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและเบามือ เพราะผิวลูกยังอ่อนบางอยู่มาก ถ้าเช็ดแรงเกินไปอาจจะทำให้ผิวถลอกหรือแสบแดงได้ง่าย
2.
ใช้สำลีชุบน้ำเช็ดอึที่ติดอยู่ออกให้หมด เช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ
3.
ฟอกสบู่อ่อนๆ เบาๆ แล้วล้างน้ำออกให้เกลี้ยง
4.
ซับด้วยผ้าขนหนูให้แห้ง
ผมน้อยๆ ไม่สระไม่ได้
1.
เด็กแรกเกิด มักจะมีไขที่ติดตามศีรษะอยู่ การสระผมจะช่วยป้องกันการอักเสบภายหลัง ช่วงที่อากาศร้อนควรสระอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
2.
เริ่ม ด้วยการห่อตัวลูกน้อย อุ้มลูกน้อยไว้ในวงแขนด้านซ้าย คุณแม่กระชับลูกให้มั่นคงไว้ ประคองท้ายทอยและศีรษะของลูกเอาไว้ โดยที่นิ้วโป้งและนิ้วก้อยพับใบหูลูกน้อยเอาไว้ และจับให้ต่ำกว่าลำตัวเล็กน้อย น้ำจะได้ไม่ไหลเข้าตา
3.
ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็ก หรือฟองน้ำค่อยๆบีบน้ำเบาๆ เช็ดที่ผมและศีรษะของลูกให้เปียกทั่ว
4.
ใส่แชมพูเล็กน้อย นวดคลึงเบาๆให้ทั่วศีรษะ ไม่ต้องเกาเพราะอาจทำให้เกิดแผลได้
5.
จากนั้นค่อยๆล้างแชมพูออกให้หมดด้วยผ้าขนหนูผืนเล็กหรือฟองน้ำ ค่อยๆบีบน้ำและเช็ดจนฟองออกหมดแล้ว จากนั้นเช็ดด้วยผ้าแห้งทันที


จุ๊ดจู๋กับจุ๋มจิ๋มก็ต้องดูแล
เด็กผู้ชาย ปลายอวัยวะเพศยังมีเปลือกหุ้มอยู่เป็นเรื่องปกติ เมื่อลูกโตขึ้นส่วนปลายจะค่อยๆเปิดเอง ดังนั้นในช่วงแรกเกิดคุณแม่อาบน้ำและเช็ดให้ลูกเป็นปกติ พอโตขึ้นมาหน่อย ปลายจะเริ่มขยับได้ ขณะที่อาบน้ำอุ่นให้ลูก คุณแม่อาจจะลองขยับเบาๆและกวักน้ำล้างเบาๆเพื่อให้คราบไคลหรือเมือกหลุดออก ป้องกันการอักเสบ แต่ไม่ต้องถึงกับเอาสบู่ไปถูหรือพยายามขัดให้ลูกมากเกินไป อาจทำให้ลูกเจ็บได้
เด็กผู้หญิง เวลาอาบน้ำเสร็จก็ล้างน้ำสะอาดปกติ ห้ามถูแรงและไม่จำเป็นต้องถูภายใน หากมีเมือกหรือไขมัน ก็เพียงล้างด้วยน้ำอุ่น ไม่ต้องไปถูสบู่อะไร เพราะเป็นเรื่องปกติ

วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เตรียมตัวก่อนคลอด .......พร้อมจะคลอดเมื่อเวลาที่รอคอยมาถึง


            ก่อนคลอด เรื่องที่คุณแม่ท้องแรกมักจะกังวลใจ หนึ่งในหลาย ๆ เรื่องคือเรื่องการคลอดนั่นเอง บ้างได้ยินมาว่าตอนคลอดจะเจ็บมาก คลอดลำบาก ต้องมีท่าทางในการคลอด ต่าง ๆ นานา ซึ่งการจะคลอดลูกง่ายหรือยากนั้น จริง ๆ แล้วมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่คุณแม่ท้องแรกควรทราบอย่างยิ่งค่ะ
ปัจจัยแรก
            ขึ้นอยู่กับอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ว่ามีขนาดได้มาตรฐานหรือไม่ หากเล็กไปการคลอดก็จะยากขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนคลอด แพทย์ก็จะวัดขนาดของกระดูกอุ้งเชิงกรานในช่วงอายุครรภ์ของแม่แล้ว ซึ่งพอจะบอกได้ว่าขนาดของอุ้งเชิงกรานใช้ได้หรือไม่ หากมีปัญหา แพทย์ที่ทำการคลอดจะได้หาหนทางแก้ไขต่อไป

ปัจจัยที่สอง
            ขึ้นอยู่กับขนาดของทารก หากทารกมีขนาดใหญ่มากกว่า 3,500 กรัม การคลอดก็จะยากขึ้นหรืออาจคลอดตามธรรมชาติไม่ได้ เพราะจะมีความเสี่ยงมาก แพทย์อาจจะพิจารณาวิธีผ่าคลอดให้แม่เป็นทางเลือก

อยากคลอดง่ายทำไงดี

        
1. ควรพยายามดูแลตัวเองให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด เช่น อาบน้ำอุ่น พักผ่อนมากขึ้น หรืออาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางประคบหลังเพื่อช่วยคลายปวด แต่ไม่ควรกินยาแก้ปวด

        
2. ไม่ควรอั้นปัสสาวะนาน ๆ การที่กระเพาะปัสสาวะว่าง จะมีผลช่วยให้การคลอดเป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากไม่เกิดอุปสรรค์กีดขวางการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก

        
3. หากรู้สึกหิว ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ หรืออาหารว่างเบา ๆ ไม่ควรทานอาหารหนักเต็มมื้อ เนื่องจากอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาในการย่อยนาน ยิ่งหากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นระหว่างการคลอด จะเป็นอุปสรรคในการให้ยาระงับความรู้สึก เช่น ไม่สามารถให้ยาสลบได้

        
4. ควรใช้เวลาที่พักระหว่างการเจ็บครรภ์อย่างคุ้มค่า โดยการนอนให้นิ่งและสงบอารมณ์ เพื่อเก็บพลังไว้ใช้ในการคลอด

        
5. หากคุณแม่ยังสามารถลุกเดินได้ อาจจะลุกเดินรอบ ๆ เตียงบ้างก็ได้ หรือขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายจากการเกร็งตัว

        
6. หากรู้สึกว่าต้องการระงับอาการปวด ควรบอกแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล พยายามควบคุมการหายใจเข้า-ออก ตามวิธีที่พยาบาลในห้องคลอดแนะนำ ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่สบายขึ้น

เมื่อคุณตัดสินใจแล้วว่าจะเลี้ยงลูกด้วย นมแม่  ขอให้ตั้งใจอย่างแน่วแน่และมั่นคง
รำลึกเสมอว่า

คุณกำลังจะให้ของขวัญที่พิเศษสุดแก่ลูกน้อย ซึ่งมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะมอบให้ได้
หากคุณพลาดโอกาสนี้ไป  คุณอาจจะรู้สึกเสียใจทุกครั้ง เมื่อหวนคิดถึงมัน

อิ่มอุ่น..จากอกแม่


จงจำไว้ว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นั้นจะง่ายขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่ยากขึ้น
นี่เป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพทั้งของคุณและลูกน้อย ประหยัดเงินทั้งค่านมและค่ารักษาพยาบาล

และเหนือสิ่งอื่นใด
เป็นการสร้างสัมพันธภาพซึ่งยาวนานตลอดชีวิตของคุณและลูกน้อย




วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้หญิง " 9 เดือนของการตั้งครรภ์" คุณพร้อมหรือยัง

แด่.........ว่าที่คุณแม่         
ตั้งแต่นาทีแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ทุกคนคงมีความรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ สุขใจ กับผลผลิตของความรักที่เกิดขึ้นนี้ ลูกเป็นสายใยและดวงใจของพ่อแม่ พ่อแม่ทุกคนหวังว่าลูกจะเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรง จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลจากสูติแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้คุณแม่มีสุขภาพที่ดีตลอดการตั้งครรภ์ นอกจากนั้นลูกน้อยในครรภ์จะได้เติบโตอย่างปลอดภัย แข็งแรง เพื่อที่จะได้เกิดมาเป็นความภาคภูมิใจของพ่อและแม่

      ในช่วงเวลาพิเศษของชีวิตเช่นนี้ คุณแม่ทุกท่านควรจะได้รับการฝากครรภ์ ซึ่งคุณแม่จะได้รับการตรวจสุขภาพโดยทั่วไป ตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ และตรวจเลือก แพทย์จะนัดคุณแม่มาตรวจเป็นระยะๆ เพื่อดูความก้าวหน้าของการตั้งครรภ์ ดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ คุณแม่ที่มีปัญหาก็จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องพร้อมทั้งเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆในระหว่างการตั้งครรภ์
9  เดือนของการตั้งครรภ์ บทความนี้ได้สรุปพัฒนาการต่างๆของลูกน้อยในครรภ์เป็นรายเดือน แต่ละเดือนของการตั้งครรภ์ ลูกน้อยมีพัฒนาการที่รวดเร็วและมีความต้องการในแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน

 ตั้งครรภ์ 1 เดือน

          ในเดือนแรกของการตั้งครรภ์ บางครั้งหรือส่วนมาก ไม่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ประจำเดือนที่ขาดหายไป อาจจะ............... ถ้าเป็นผู้ที่สนใจตัวเองจะทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือ เต้านมจะใหญ่แข็งมากขึ้น คัดและเจ็บ อารมณ์จะเปลี่ยนไป หงุดหงิด ความไร้เหตุผลมีมากขึ้น ใน 1เดือนแรกของการตั้งครรภ์นี้ ทารกในครรภ์จะมีขนาดเล็กมาก เพียงเท่าเมล็ดข้าว อยู่ในถึงน้ำคร่ำเล็กๆ ที่มีรกเกาะอยู่ผนังมดลูก ขณะนี้ตัวทารกน้อย ที่มีขนาดเล็กเท่าเมล็ดข้าวจะมีตุ่มยื่นออกมาที่กำลังพัฒนา เป็นแขนขา ระบบประสาทเริ่มเกิด และใกล้เคียงกับระบบไหลเวียนโลหิต ก็กำลังเริ่มสร้างเครือข่ายไปทั่วร่างกายของทารก เมื่อมีความผิดปกติของระดู ควรจะตรวจสอบการตั้งครรภ์ เพื่อให้ทราบผลที่แน่นอน และถ้าท่านตั้งครรภ์ก็ควรละเลิกพฤติกรรมที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของทารก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มกาแฟ และสุรา เป็นต้น ดังนั้น ท่านควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ
      ตั้งครรภ์ 2 เดือน           ในเดือนที่ 2 ของการตั้งครรภ์นั้น เป็นเดือนที่สำคัญ เพราะเป็นเวลาที่ตัวอ่อนหรือทารกน้อยๆ จะมีการพัฒนา เจริญเติบโตของระบบประสาทและหลอดเลือด ขณะเดียวกันอวัยวะที่สำคัญก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ระยะเวลาดังกล่าวนี้ ทารกจะเสี่ยงต่อการเกิดความพิการ ถ้าได้รับสารพิษเข้าไป ในเดือนที่ 2 นี้ตัวทารกจะมีความยาวประมาณ 1 นิ้วฟุต ซึ่งแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ทารกก็จะมี แขน ขา หน้า รูปร่างเหมือนมนุษย์ขนาดจิ๋ว ขณะเดียวกันก็จะมีหัวใจที่เต้นทำงานบีบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ผู้ตั้งครรภ์ในเดือนที่ 2 นี้ ก็จะมีอาการแพ้ท้อง เช่นเดียวกับเดือนแรก คือจะมีอาการแสบท้องอ่อนเพลีย หน้าอกโตขยายใหญ่ขึ้น ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้การย่อยอาหารช้าลง จะทำให้ผู้ตั้งครรภ์มักจะมีอาการท้องอืดเฟ้อ ท้องผูก และผู้ที่ตั้งครรภ์จะรู้สึกหน้ามืด เป็นลมบ่อยๆ

      ตั้งครรภ์ 3 เดือน          ในเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้องอาจจะยังมีอยู่หรือเริ่มจะดีขึ้น อารมณ์ของผู้เป็นแม่จะเริ่มคงเส้นคงวา ในช่วงเดือนที่ 3 นี้ ด้วยเครื่องมือตรวจการทำงานของหัวใจ อาจจะได้ยินเสียงเต้นของหัวใจ ซึ่งถ้าผู้เป็นแม่ได้ยินแล้วจะรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น และน่าประทับใจ ในวัยนี้ทารกจะมีขนาดโดยประมาณ 3นิ้วฟุต อวัยวะต่างๆ จะเกิดจนครบและกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ อวัยวะต่างๆ ก็เริ่มทำงานได้แล้ว สำหรับวัยขนาดครรภ์ 3 เดือนนี้เครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ยังไม่สามารถบอกเพศได้ว่าเป็นหญิงหรือชาย สำหรับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายนั้น จะเริ่มพบว่ามีอาการบวมของฝ่ามือ ฝ่าเท้า รวมทั้งเส้นเลือดก็จะเริ่มโป่งให้เห็นเป็นลักษณะเส้นเลือดขอดได้ง่ายขึ้น
ตั้งครรภ์ 4 เดือน           การตั้งครรภ์ในระยะนี้ นับเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่สอง อาการแพ้ท้องในเดือนนี้มักจะหายไป เริ่มทานอาหารได้มาก ทำให้น้ำหนักเริ่มมากขึ้น อารมณ์เข้าสู่สภาพปกติ แต่ยังอาจจะมีสภาพใจลอย อาการตกขาวอาจจะมีมากขึ้น เส้นเลือดขอดและ ริดสีดวงทวารจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนทั่วไป จากการขยายตัวของมดลูกอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อระบบไหลเวียนของโลหิตในปลายเดือนที่ 4 นี้ ผู้เป็นแม่อาจจะรู้สึกได้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ ถ้าเคยมีประสบการณ์ในการตั้งครรภ์มาก่อน จะมีความรู้สึกว่าลูกดิ้นจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งตรงข้ามกับหญิงตั้งครรภ์แรกทารกในครรภ์ขณะนี้จะยาวประมาณ 4 นิ้วฟุต ทารกสามารถจะดูด กลืน เคลื่อนไหวได้คล้ายกับมนุษย์ทั่วไปที่ตัวเล็กๆ นั่นเอง แต่ก็ยังอ่อนแอไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกโพรงมดลูกได้
ตั้งครรภ์ 5 เดือน          ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะการตั้งครรภ์ได้ผ่านมาครึ่งทางแล้ว ขณะนี้ผู้เป็นแม่มักจะมีความรู้สึกถึงการดิ้นของทารกได้ การดิ้นครั้งแรกๆ จะรู้สึกเบาและห่าง ซึ่งจะค่อยๆ ดิ้นแรงขึ้นๆ และถี่ขึ้นๆ ขณะนี้ผู้เป็นแม่มักจะมีอารมณ์ดี ไม่ซึมเศร้า ทารกในขณะเดือนที่ 5จะมีขนาดประมาณ 10 นิ้วฟุต ศรีษะทารกยังค่อนข้างโต มีการเคลื่อนไหวของแขนขาและคอได้ดี นิ้วมือและนิ้วเท้าแยกกันชัดเจน อวัยวะเพศสามารถแยกได้ชัดเจนว่าเพศหญิงหรือเพศชาย ทารกจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้เป็นแม่ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะสร้างความวิตกกังวลให้แก่ตนเองได้ คือ การเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง จะมีผิวสีเกิดขึ้น ทั้งที่ใบหน้าหรือหน้าท้อง ที่หน้าจะทำให้เกิดสิว ฝ้า ซึ่งจะค่อยๆ จางหายไปหลังคลอด ขอให้คุณแม่ทั้งหลายที่ตั้งครรภ์มาถึงขณะนี้ ได้มีความอดทนต่อภาวะการตั้งครรภ์ต่อไป อีกไม่นานนักท่านจะได้เห็นลูกน้อยที่น่ารักออกมาจากครรภ์

ตั้งครรภ์ 6 เดือน          เดือนที่ 6 เป็นเดือนที่ทารากจะดิ้นได้ดี บางครั้งก็จะเกิดความเจ็บปวดจากการดิ้นได้ ถ้าทารกดิ้นเข้าไปกระแทกกระเพาะปัสสาวะ หรือ ชายโครง สำหรับในเดือนที่ 6 นี้ มดลูกจะขยายใหญ่มากขึ้น จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังหน้าท้อง คือจะเกิดผิวหนังแตกเป็นลาย ที่เรียกว่าหน้าท้องลาย จะมีอาการคันตามมา ในช่วงเดือนนี้ อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับการตั้งครรภ์ เช่น การเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาการพิษแห่งครรภ์ การอักเสบติดเชื้อราจะพบได้ง่ายมาก และการอักเสบในระบบทางเดินปัสสาวะพบได้บ่อยขึ้น ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในส่วนของทารก ขณะนี้มีขนาดยาวประมาณ 13 นิ้วฟุต น้ำหนักประมาณ 700-800 กรัม ตาทารกเริ่มลืมและนิ้วมือเริ่มมีลายนิ้วมือ แต่ผิวหนังยังไร้ไขมัน ถ้าทารกคลอดก่อนกำหนดในเดือนดังกล่าวนี้ โอกาสจะเลี้ยงรอดยากมาก
(ลูกดิ้นแรงมากค่ะ...^_^  ท้องเราจะนูนขึ้น ไม่แขนก็ขาของลูกแหละที่ดันขึ้นมา พอเราเอามือจับดู ลูกจะรับรู้แล้วก็หลบไปดิ้นตรงจุดอื่นบ้าง เล่นกับลูกสนุกดีค่ะ ชอบมากๆช่วงนี้)
ตั้งครรภ์ 7 เดือน          เป็นการเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ท้องโตมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกได้ดีถึงการเคลื่อนไหวของทารก ท้องที่โตมากขึ้นทำให้คุณแม่หายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกที่โตจะมาดันกระบังลมทำให้หายใจได้สั้น ๆ คุณแม่จะรู้สึกถึงความอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว นอนหลับไม่ได้เต็มที่จากการที่ทารกในครรภ์จะตื่น และตัวมดลูกเองก็จะบีบตัวเป็นระยะห่าง ๆ กัน เป็นการเริ่มต้นการหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งจะรุนแรงมากขึ้นแต่ก็ไม่ถึงกับมีการเจ็บปวดเกิดขึ้น และจะบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที ในระยะนี้คุณแม่ควรจะได้เข้าอบรมเรียนรู้ขั้นตอนการเตรียมคลอด เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเมื่อเจ็บครรภ์คลอดและเข้าสู่กระบวนการคลอด ในช่วงระยะนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยเพิ่มสัปดาห์ละ ครึ่งกิโลกรัม ทารกในครรภ์ขณะนี้จะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัมโดยประมาณ ทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนไหวและปฏิกิริยาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การจาม ดูดมือ ดูดนิ้วเท้า
ตั้งครรภ์ 8 เดือน               ขณะนี้ท้องจะใหญ่มากขึ้นจนคุณแม่จะรู้สึกถึงความอึดอัด ท้องที่โตขึ้นทำให้พื้นที่ปอดขยายลดลง คุณแม่จะเหนื่อยง่าย หายใจเร็วสั้น กระเพาะปัสสาวะจะถูกกด ทำให้ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลานอนก็จะถูกรบกวนได้จากการที่ต้องลุกไปปัสสาวะ และจากการดิ้นที่รุนแรงของเด็กทารกในครรภ์ ซึ่งขณะนี้การเจริญเติบโตของระบบกล้ามเนื้อมากขึ้น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย ๆ จะพบได้ เพราะการย่อยอาหารถูกกระทบกระเทือนไป จะมีอาการของหลอดอาหารอักเสบตามมา มือเท้า จะบวม เริ่มเป็นตะคริวบ่อยขึ้น ท้องผูกจะเป็นสิ่งปกติของคุณแม่ระยะนี้ ตกขาวจะมีมากขึ้น ในบางคนจะมีน้ำนมไหลออกมา ซึ่งเป็นหัวน้ำนมก็ว่าได้ เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง ทารกขณะนี้จะมีน้ำหนักโดยประมาณ 2 กิโลกรัม คุณแม่ควรจะต้องเรียนรู้กระบวนการคลอด และสังเกตถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น น้ำเดิน เป็นต้น ควรจะได้เตรียมเครื่องใช้สำหรับการเข้าอยู่ในโรงพยาบาลไว้ให้พร้อม
                  
ตั้งครรภ์ 9 เดือน          สำหรับท่านที่ตั้งครรภ์มาจนถึงเดือนที่ 9 พอเข้าเดือนที่ 9 คุณก็เริ่มนับถอยหลังได้แล้ว วันเวลาแห่งการรอคอยจะมาถึงในไม่ช้าไม่นาน ท้องที่โตขึ้นจะลดลงจนคุณแม่รู้สึกได้ เพราะตัวเด็กทารกในครรภ์เริ่มลงสู่เชิงกราน คุณแม่จะรู้สึกโล่งขึ้นและหายใจได้ดีขึ้น คล่องแคล่วขึ้น แต่จะหน่วงในช่วงเชิงกรานมากขึ้น เพราะส่วนนำของทารกจะลงไปกดอวัยวะในช่องเชิงกราน อาจจะปวดที่หัวเหน่า ปวดที่โคนขาจากการกดทับเส้นประสาทขา ปัสสาวะจะบ่อยขึ้นมาก ทารกในครรภ์จะดิ้นน้อยลงบ้างแต่ไม่มากนัก การสังเกตการดิ้นของทารก ถือเป็นการเฝ้าระวังต่อสุขภาพเด็กทารกที่ดีที่ผู้เป็นแม่ควรปฏิบัติ โดยสังเกตดูใน 1 ชั่วโมงหลังอาหาร เด็กทารกในครรภ์ต้องดิ้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ถ้าน้อยกว่าให้สังวรว่า อาจจะมีความผิดปกติเกิดแก่ทารก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็ว ทารกในครรภ์ขณะนี้จะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5 กิโลกรัม ในอีกไม่ช้าไม่นาน ไม่แน่ว่ากลางวันหรือกลางคืน คุณจะมีสมาชิกใหม่ของครอบครัวเพิ่มขึ้น
(เย้ๆๆๆๆๆใกล้จะได้เห็นหน้าของลูกเราแล้ว เอ...หน้าตาจะเหมือนใครหนอ ภาวนาให้ลูกน้อยคลอดง่าย ออกมาสมบูรณ์ แข็งแรงด้วยเถิด)

ลูกใครหว๋า?